สุรพศ ทวีศักดิ์ : กฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา ขัดหลักการ ‘รัฐเสรีประชาธิปไตย’

หลังจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)ได้พยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร 2549 และรัฐบาลต่างๆ หลังจากนั้นไม่สำเร็จ ครั้นหลังรัฐประหาร 2557 ก็ได้พยายามผลักดันร่างฯ ดังกล่าวอีก ทราบว่าน่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เร็วๆ นี้

ความลึกลับและซับซ้อน

แม้จะอ้างว่าร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวพุทธกลุ่มต่างๆ มาก่อน แล้วจึงสรุปปัญหาและข้อเสนอแนะออกมาเป็นร่างกฎหมาย แต่ในกระบวนการที่จะเข้าไปสู่การพิจารณาของ สนช.ชุดปัจจุบัน ดูเหมือนร่างฯ ดังกล่าวจะถูก “ปิดลับ” มากเป็นพิเศษ ผมเองได้เห็นเฉพาะร่างเก่าซึ่งเพื่อนที่พยายามหาข้อมูลจาก “วงใน” บอกว่าเป็นร่างที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและ คสช.แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 แต่ก่อนจะเข้ากฤษฎีกา มหาเถรสมาคมได้มีมติให้ “ตัดบทกำหนดโทษ” ออกเมื่อธันวาคม 2557 

อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือการกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเรื่องพุทธศาสนาไว้สูงมาก โดยไม่ชัดเจนว่า การร่างกฎหมายได้อิงฐานคิดในการลงโทษตามคำสอนในพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มใด 

ตัวอย่างเช่น ความคิดหลักในการร่างกฎหมายส่วนหนึ่งคือ “ต้องการให้มีการสอน เผยแผ่พุทธศาสนาให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก” แปลว่า “การทำตามพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการทำให้ผิดไปจากพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่ผิด” แต่ตามร่างฯ มาตรา 32 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้หลักศาสนธรรมผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมืนสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”(อัตราโทษในร่างแรกๆ จำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 25 ปี) 


คำถามก็คือ การกำหนดอัตราโทษดังกล่าวอาศัย “ความชอบธรรม” ตามหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเล่มไหน ข้อใด? ถ้าไม่มีหลักพระธรรมวินัยรองรับการกำหนดอัตราโทษดังกล่าว ก็แปลว่าร่างกฎหมายฉบับนี้แหละที่ “ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย” เพราะขณะที่บังคับให้คนอื่นกระทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ร่างกฎหมายนี้และอำนาจตามร่างกฎหมายนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความชอบธรรมตามหลักพระธรรมวินัยเลย หรือเป็นร่างกฎหมายที่สถาปนาอำนาจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักพระธรรมวินัยเสียเอง

ฉะนั้น แม้มหาเถรสมาคมจะมีมติตัดบทกำหนดโทษออกไป แต่ร่างฯ ดังกล่าวก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนวิธีคิดขององค์กรพุทธศาสนาไทย ที่ต้องการมีอำนาจควบคุมให้คนอื่นๆ กระทำตามพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเป๊ะๆ โดยที่อำนาจนั้นไม่ได้มีความชอบธรรมตามหลักพระธรรมวินัย หรือไม่มีพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎกรองรับการมีอำนาจเช่นนั้นแต่อย่างใด

การอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาแบบเลือกปฏิบัติ

เหตุผลในการบัญญัติกฎหมายระบุว่า“โดยที่ศาสนาเป็นสถาบันหลักในสามสถาบันของราชอาณาจักรไทยคือสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งมีพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา...สมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมมือร่วมใจกันในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงดำรงอยู่สืบไปรวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของพุทธศาสนามาใช้ในการเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

จะเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวพูดถึง“พุทธบริษัทสี่” แต่เน้นความสำคัญของ “พระภิกษุสงฆ์” มากเป็นพิเศษ และเป็นที่ทราบกันว่า คณะสงฆ์ไทยปฏิเสธการบวชภิกษุณี และกฎหมายคณะสงฆ์ไทยก็ปฏิเสธสถานภาพ “นักบวช” ของภิกษุณีที่บวชมาจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีภิกษุณีในไทยกว่า 80 รูป กระจายกันอยู่อย่างน้อยใน 20 จังหวัด ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และยังมีสตรีไทยที่ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรีชั่วคราวอีกมากกว่า 500 รูป

ถามว่า ภิกษุณีและสามเณรีเหล่านั้น และประชาชนที่ศรัทธาภิกษุณี สามเณรีเหล่านั้นไม่ใช่ “ชาวพุทธ” และไม่ใช่ “พลเมือง” ของรัฐไทยหรือ? แม้พวกเขาจะเป็นคนส่วนน้อย รัฐปฏิเสธพวกเขาได้หรือ รัฐมีสิทธิอะไรในการออกกฎหมายอย่าง “เลือกปฏิบัติ” หรือออกกฎหมายคุ้มครองพลเมืองของรัฐอย่าง “ไม่เท่าเทียม” 

หรือหากคิดตามหลักการของพุทธศาสนาเอง ก็มีคำถามสำคัญว่า คณะสงฆ์และสำนักพุทธฯ ได้ใช้หลักการตามคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก (ที่ผมพูดถึง “พระไตรปิฎก” ก็เพราะท่านเหล่านั้นอ้างความชอบธรรมจากพระไตรปิฎกตลอดเวลา) เล่มใด ข้อใด ในการขอให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองชาวพุทธด้วยกันอย่างไม่เท่าเทียมหรือเลือกปฏิบัติ (แม้แต่สมัยพระเจ้าอโศกเองยังมีการอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายต่างๆ และศาสนาอื่นๆ อย่างเท่าเทียม)

ฉะนั้น หลักการ (และสาระ) ของร่างกฎหมายฉบับนี้จึงขัดกับหลัก “ความยุติธรรม” แม้แก่ชาวพุทธด้วยกันเอง ทั้งที่ชาวพุทธทุกกลุ่มมีสถานะเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้รัฐเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมแก่ชาวพุทธทุกกลุ่ม รัฐประชาธิปไตยไม่มีสิทธิออกกฎหมายเลือกปฏิบัติแก่พลเมืองเช่นนี้ได้ 

ปัญหาการขัดหลักการของรัฐเสรีประชาธิปไตย

แน่นอนว่า รัฐไทยยังไม่ใช่ “รัฐเสรีประชาธิปไตย” แต่เมื่อเรายืนยันการปกครองระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่บอกถึง “ความเป็นประชาธิปไตย” ก็คือความเป็นเสรีประชาธิปไตย นั่นคือรัฐต้องรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคล สิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการนับถือศาสนา การสร้างพื้นที่หรือระบบรองรับการต่อรองที่เท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อเรายืนยันว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การพัฒนาไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยจึงมีความจำเป็น

อุดมคติสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐเสรีประชาธิปไตยคือความเป็น“รัฐทางโลก”(secular state) ที่ไม่ปกครองด้วยหลักความเชื่อทางศาสนา หรือหลักสัจธรรมสัมบูรณ์ (absolute truth) แต่ปกครองด้วยหลักการทางโลก หรือหลักความมีเหตุผล (rationality) ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการอภิปรายถกเถียงและลงมติ หรือมีฉันทานุมัติร่วมกันได้อย่างเสมอภาค จึงไม่ใช่รัฐที่ศาสนาใดๆ จะมีอภิสิทธิ์เสนอความเชื่อหรือสัจธรรมสัมบูรณ์ที่เถียงไม่ได้ ให้เป็นหลักการปกครองที่ประชาชนทุกคนต้องยอมรับและเชื่อฟัง

หลักการสำคัญของรัฐเสรีประชาธิปไตยคือรัฐต้องรักษา“ความเป็นกลาง”ทางศาสนา จะทำเช่นนั้นได้รัฐต้องไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของศาสนาใดๆ ตราบที่ไม่มีการใช้ศาสนานั้นๆ ละเมิดสิทธิพลเมือง หน้าที่ของรัฐคือรักษาเสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุผลทางศาสนา แม้ว่าศาสนานั้นจะเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือก็ตาม ขณะเดียวกันก็รักษาเสรีภาพในการปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาของประชาชนด้วย รัฐต้องปฏิบัติต่อคนที่นับถือศาสนาต่างๆ และคนที่ไม่นับถือศาสนาอย่างเสมอภาคกัน

ในทางข้อเท็จจริง เราอาจเถียงกันได้ว่า รัฐเสรีประชาธิปไตยที่เป็นกลางทางศาสนาจริงๆ มีอยู่หรือไม่? ฝรั่งเศสดูเหมือนจะชัดเจนว่า ศาสนาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐทั้งในแง่อิทธิพลทางความคิดและพิธีกรรม ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา การขึ้นเป็นประธานาธิบดียังต้องสาบานตนต่อคัมภีร์ไบเบิล แต่เราก็ต้องดูในสาระสำคัญด้วยว่า รัฐไม่ได้อุปถัมภ์ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง องค์กรศาสนาเป็นองค์กรเอกชนและจ่ายภาษี ขณะที่อังกฤษกษัตริย์หรือพระราชินีทรงเป็นประมุขของศาสนจักรนิกายอังกฤษ (Anglicanism หรือ Church of England) แต่สถาบันกษัตริย์และศาสนาของอังกฤษก็อยู่ภายใต้ระบบการปกครองเสรีประชาธิปไตย ที่ถูกวิจารณ์ตรวจสอบหรือถูกปฏิเสธได้โดยประชาชน และไม่สามารถก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจรัฐบาลให้เบี่ยงเบนไปจากหลักการพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตยได้

แต่หลักคิดที่ใช้อ้างอิงสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐไทยและการออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นหลักคิดแบบ“รัฐโบราณ” หรือรัฐสมัยเก่าที่เป็น “รัฐศาสนา” เพราะมีการอ้างแบบอย่างการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก และกษัตริย์ไทยยุคต่างๆ เป็นฐานอ้างอิงในการวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐและการร่างกฎหมายดังกล่าว

ทว่ารัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก“รัฐพุทธศาสนา”แบบสมัยเก่าหลักการปกครองและหลัก “ความชอบธรรม” ในการออกกฎหมายของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ได้อิงหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ อีกต่อไป หากอิงหลักการประชาธิปไตยที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาและปฏิบัติต่อทุกศาสนา รวมทั้งประชาชนที่ไม่นับถือศาสนาอย่างเสมอภาค

ฉะนั้น การออกกฎหมายให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จึงขัดกับหลักการของรัฐเสรีประชาธิปไตยที่ต้องเป็นกลางทางศาสนา ต้องปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา และการไม่นับถือศาสนาใดๆ

สรุป : ไม่ควรออกกฎหมายที่ขัดหลักความยุติธรรม

ชัดเจนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัด “หลักความยุติธรรม” ในสาระสำคัญพื้นฐานที่สุดคือ เป็นการเลือกปฏิบัติในการให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองชาวพุทธกลุ่มต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม และขัดหลักการของรัฐเสรีประชาธิปไตยที่ต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา และการไม่นับถือศาสนา การออกกฎหมายให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ จึงไม่ยุติธรรมแก่ศาสนาอื่นๆ และประชาชนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ ร่างกฎหมายนี้จึงควรถูกยับยั้งไม่ให้ออกเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนารัฐไทยให้เป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยในอนาคต

และหากมองถึงเรื่องของการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่องค์กรพุทธศาสนาที่มีการบริหารจัดการแบบเอกชนจะมีความยืดหยุ่นคล่องตัว และมีความหลากหลายในการศึกษาตีความและการประยุกต์ใช้ตอบสนองต่อวิถีชีวิตคนปัจจุบัน และปัญหาสังคมสมัยใหม่ได้ดีกว่าองค์พุทธศาสนาที่มีการบริหารแบบราชการ ซึ่งมีลักษณะอนุรักษ์-อำนาจนิยมสูง การออกกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมองค์กรพุทธลักษณะดังกล่าวให้มีอำนาจและผูกติดกับการอุปถัมภ์คุ้มครองจากรัฐมากขึ้นอาจไม่ใช่การส่งเสริมพุทธศาสนาให้มีคุณค่าสอดคล้องกับสภาพสังคมสมัยใหม่อย่างที่ควรจะเป็น 

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

Khaoden9